ของเล่นนั้นสำคัญไฉน?
ในมุมมองคนรักของเล่นอย่าง โอม - ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล แม้เขาจะเน้นหนักไปในสายพลาโม (Plastic Model) และวอร์แฮมเมอร์ (Warhammer) ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ต้องใช้ทักษะศิลปะและการเล่นค่อนข้างซับซ้อน แต่ของเล่นทุกรูปแบบล้วนเป็นสิ่งที่เขาสนใจ ความสำคัญของของเล่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ
“เด็กต้องมีพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อมัดต่างๆ กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อในการเดิน หัดจับ หัดคิด หัดต่อ หัดประกอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ของเล่นมีผลต่อพัฒนาการของเด็กอยู่แล้ว ช่วยต่อเติมจินตนาการที่จับต้องได้”
สิ่งที่นักร้องหนุ่มกล่าวไปในทางเดียวกันกับที่หมอโอ๋อธิบายเพิ่มว่าไม่ใช่แค่ ‘ของเล่น’ ที่สำคัญ แต่เป็น ‘การเล่น’ ทั้งหมด
“ไม่ใช่แค่ของเล่น แต่เป็นการเล่นที่เป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาการเด็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้ มีพัฒนาการด้านสมอง พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก ภาษา และทักษะทางสังคม ก็จะผ่านการเล่น ส่วนของเล่นเป็นเหมือนตัวเสริมที่จะทำให้การเล่นสนุกขึ้น”
คุณค่าของของเล่นในกลุ่มเด็กปกติอาจช่วยสร้างความบันเทิงและเสริมพัฒนาการ แต่ในกลุ่มเด็กพิเศษ ของเล่นคือเครื่องมือเยียวยาพวกเขา
ฤชาญุภักดิ์ เวชกามา นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย (นักแก้ไขการพูด) แผนกหู คอ จมูก รพ.ขอนแก่น เล่าว่ามีเด็กจำนวนมากกว่า 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ เข้ามารับการรักษาอาการพูดล่าช้า ด้วยสาเหตุหลักคือพ่อแม่ให้เล่นโทรศัพท์หรือแทบเล็ตมากเกินไป อีกที่เหลือเกือบทั้งหมดคือจากภาวะออทิสติก, ดาวน์ซินโดรม และปัญหาระบบประสาทเกี่ยวกับการพูด เช่น สมองพิการ ซึ่งการจะทำให้เด็กพูดก็ต้องกระตุ้นผ่านการเล่น
“ถ้าให้เด็กมานั่งแล้วพูดตาม เด็กจะไม่ชอบ จึงต้องเล่น โดยให้เด็กเล่นร่วมกับเรา ให้เด็กสนใจคนเล่น ของเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเราจะเลือกของเล่นให้ตรงกับช่วงวัย เช่น แรกเกิดถึง 9 เดือน จะเป็นของเล่นที่เน้นมีเสียง เช่น ตุ๊กตาบีบมีเสียงเพื่อกระตุ้นการฟัง ลูกบอลผ้ากระตุ้นการมอง หรือโตขึ้นมาประมาณ 1 – 1.6 ปี เด็กเริ่มเข้าใจความหมายคำว่าข้างในแล้ว ก็จะชอบเล่นของเล่นที่เทออกได้ จับใส่เข้าไปได้ เป็นต้น”
ของเล่นทั้งหมดที่นำมาใช้รักษาทั้งหมดเป็นของเล่นแบบ Low Technology เพราะของเล่นที่ดีไม่ได้แปลว่าเป็นของเล่นราคาแพง ทั้งหมอโอ๋และนักแก้ไขการพูดบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ถึงที่สุดแล้วพ่อแม่คือ ‘จุดเปลี่ยน’
แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนทัศนคติพ่อแม่เป็นโจทย์สุดหิน พ่อแม่หลายคนรับรู้ปัญหา แต่หลายบ้านประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ต้องกลับบ้านดึก ต้องทำโอที เสาร์-อาทิตย์ทำงาน เด็กถูกเลี้ยงโดยปู่ย่าตายาย พอเด็กซนก็หยิบยื่นเทคโนโลยีเพราะรู้สึกว่าทำให้เลี้ยงง่ายขึ้น
“หน้าที่สำคัญของเด็กจริงๆ ไม่ใช่การเรียนนะคะ แต่เป็นการเล่น และการเล่นช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้ดีกว่าการเรียนแบบนั่งคัด ท่องจำ อย่างมาก และของเล่นที่ดีที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ ไม่ต้องมีเงินเยอะ เอาตัวเองไปเล่นกับลูกเยอะๆ ช่วยได้มาก อ่านนิทาน เล่นอะไรง่ายๆ เล่นดินเล่นทรายเล่นก้อนหิน” หมอโอ๋บอก
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/797043